ครม. รับทราบ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

ครม. รับทราบ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำถึงแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติต่าง ๆ ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ

ครม. รับทราบพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติแทน ครม. ในการตราร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ซึ่งประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย 5 มาตรา มีสาระสำคัญ ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ครม. เห็นชอบแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

• คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่เรียกว่า รักษาการ การลงชื่อตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง และยังคงได้รับเงินเดือน แต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

• คณะรัฐมนตรี ยังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ มีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศ มาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น

ข้อปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามรธน. 169

1. ไม่อนุมัติงบที่มีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2. การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง ไม่ควรแต่งตั้ง ซี 10-11 เว้นแต่ถ้าไม่แต่งตั้งแล้วเสียหาย เช่น จำเป็นต้องแต่งตั้งอธิบดีกรมการศาสนา เพื่องานพระราชพิธีสำคัญในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้การแต่งตั้งโยกย้าย การให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการและต้องได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

3. การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลาง) เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

4. ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กก. เช่น รมต. ใช้รถส่วนกลางไปหาเสียงไม่ได้ แต่ใช้รถประจำตำแหน่งได้ (เติมน้ำมัน + จ้างคนขับรถเอง) หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของ หน่วยงานของรัฐ

** ทั้งนี้ในฐานะสื่อของกรมประชาสัมพันธ์การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการใช้สื่อจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยห้ามใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ กรณีระเบียบไม่ได้กำหนดไว้หรือมีเหตุจำเป็น กกต.อาจกำหนดข้อยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบได้

ปฏิทินเลือกตั้ง 2566

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป หลังการประกาศยุบสภาซึ่งตามกฎหมายให้ กกต. ออกประกาศภายใน 5 วันนับแต่วันยุบสภา

• 20 มีนาคม 2566 พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

• 21 มีนาคม 2566 กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร

• 27 มีนาคม-13 เมษายน 2566 วันลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต-นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร

• 3-7 เมษายน 2566 วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต

• 4-7 เมษายน 2566 วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

• 3 พฤษภาคม 2566 วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

• 7 พฤษภาคม 2566 วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต - นอกเขตเลือกตั้ง และวันลงคะแนน ณ ที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ

• 7-13 และ 15 - 21 พฤษภาคม 2566 วันแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

• 14 พฤษภาคม 2566 วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ส.ส. มีหน้าที่อะไรบ้าง

1. ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

2. ผู้เลือกบุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

3. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

4. จัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาประเทศ

5. นำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนเสนอต่อรัฐบาล

ส.ส. มีกี่ประเภท

1. ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งทั่วประเทศแบ่งเป็น 400 เขต ได้รับคะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้น และได้รับคะแนนสูงกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด

2. ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 บัญชี การเลือกตั้งก่อนปิดรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่รายชื่อต้องไม่ซ้ำกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้งคำนวณจำนวน ส.ส.ตามสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับ

แนวทางการเลือกตั้ง ส.ส. เข้าสภา

1. มีประวัติการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาดีและเป็นที่ยอมรับ

2. มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ

3. เข้าถึงประชาชนในพื้นที่สม่ำเสมอ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนํามาแก้ไข โดยเสนอเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

4. เป็นแบบอย่างการรักษาประโยชน์ส่วนรวมและไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง

 

ดูข้อมูลเชิงลึก

โปรโมทโพสต์

ความรู้สึกทั้งหมด

11


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar