อัฐมีบูชา

ประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองของพระพุทธเจ้าแห่งเดียวในโลกที่วัดบรมธาตุ ทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้มีการยึดถือปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีของชาวทุ่งยั้งมาตั้งแต่โบราณตราบจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลามากกว่า 100 ปี ในอดีต สมัยพุทธกาล หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานลงไป เมื่อวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แล้ว 8 วัน พระเจ้ามัลละผู้ครองนครเมืองกุสินาราได้ร่วมกับชาวเมืองและพระสาวกทั้งหลายประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ สาละวันอุทยานเมืองกุสินารา เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 แต่การถวายพระเพลิงพระบรมศพในครั้งนั้น ไม่สามารถกระทำได้สำเร็จถึง 3 ครั้ง 3 ครา จนพระอนุรทธะเถระประธานฝ่ายบรรพชิต ได้แจ้งให้พระเจ้ามัลละ ประธานฝ่ายฆราวาสได้ทราบว่า ก่อนที่พระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั้น พระองค์ท่านได้ทรงตั้งพระทัยไว้ว่าหากพระอริยกัสสปะ พระสาวกผู้ใหญ่ยังพาสาวกทั้งหมดที่ออกจาริกเผยแพร่พระศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ มาไม่ถึง พระเพลิงที่ถวายจะไม่ลุกโชตนา ดังนั้นทั้งหมดจึงต้องรอจนกระทั้งพระอริยกัสสปะ พาสาวกทั้งหมดกลับมาถวายความเคารพพระบรมศพจนครบแล้ว พระเตโชธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ลุกรุ่งโรจน์โชตนาการขึ้นมาเอง เป็นที่น่าอัศจรรย์ ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณแห่งองค์พระบรมศาสดา รวมทั้งเพื่อให้ประชาชน ได้ร่วมกันประกอบกิจและพิธีทางศาสนาพุทธที่เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจให้ทุกคน ทำแต่ความดี มีเมตตาต่อกันและกัน สร้างความยึดมั่นในศาสนาพุทธให้กับอนุชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันไป ตราบนานเท่านาน ชาวบ้านทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ร่วมกันจัดพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าขึ้น โดยคนเฒ่าคนแก่ที่มีฝีมือจะช่วยกันใช้ไม้ไผ่สานเป็นพระพุทธรูปในอริยาบทไสยาสน์ขนาดยาว 9 ศอก ใช้ปูนพสาสเตอร์หล่อเป็นพระพักตร์ ส่วนพระวรกายก็ใช้จีวรห่มอย่างพระภิกษุสงฆ์ แล้วบรรจุพระบรมศพจำลองไว้ในโลงแก้ว ที่ประดับประดาตกแต่ไว้อย่างวิจิตรสวยงาม จากนั้น ก็จะทำการสวดพระอภิธรรมพระบรมศพจำลอง และมีพระธรรมเทศนาทุกวัน โดยมีคณะบุคคล ชุมชน หมู่บ้านต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จนถึงคืนสุดท้าย ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำเดือน 6 ชาวบ้านทั้งหมดก็จะนำพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง ประกอบพิธีเผา หรือถวายพระเพลิง ทำเช่นนี้มาทุกปี จนกระทั้งกลายเป็นประเพณีของชาวตำบลทุ่งยั้ง


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar